ระบบเชื่อมโยงฐานข้อมูลนิติวิทยาศาสตร์
ระบบเชื่อมโยงฐานข้อมูลนิติวิทยาศาสตร์
Forensic Integrated Database System
ระบบ FIDS
- ระบบ FIDS หรือระบบเชื่อมโยงฐานข้อมูลนิติวิทยาศาสตร์ ( Forensic Integrated Database System) เป็นระบบการจัดการฐานข้อมูลนิติวิทยาศาสตร์ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 พัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
นวัตกรรม
- ระบบ FIDS ถือว่าเป็น “นวัตกรรม”ใหม่ ในการบริหารจัดการฐานข้อมูลนิติวิทยาศาสตร์สำหรับประเทศไทย โดยสามารถที่จะเชื่อมโยงข้อมูลเหตุการณ์ความมั่นคง ข้อมูลวัตถุพยาน และข้อมูลผลการตรวจพิสูจน์หลักฐานอย่างเป็นระบบ ย้อนไปจนถึงปี 2547 ทำให้เห็นการก่อเหตุเป็นเครือข่าย รวมถึงพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อฝ่ายสืบสวนสอบสวน รวมถึงอัยการ และศาล ในการติดตามผู้กระทำความผิดและใช้เป็นหลักฐานสำคัญในการลงโทษผู้กระทำความผิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การทำงาน
- ลักษณะการทำงานของระบบ FIDS เริ่มต้นจากการป้อนข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ความมั่นคง ข้อมูลวัตถุพยานที่พนักงานสอบสวนส่งตรวจพิสูจน์ และข้อมูลผลการตรวจพิสูจน์หลักฐานลงในโปรแกรมฐานข้อมูล จากนั้นโปรแกรมคอมพิวเตอร์จะทำการวิเคราะห์และประมวลผลแล้วจะแสดงผลการเชื่อมโยงเหตุการณ์ในรูปของแผนผัง (ภาพประกอบ)
ระบบฐานข้อมูล (Data Base)
- ระบบฐานข้อมูล คือระบบจัดเก็บข้อมูลด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่ง ศพฐ.10ได้รวบรวมข้อมูลเหตุการณ์ความมั่งคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ข้อมูลการตรวจเก็บวัตถุพยานในที่เกิดเหตุ และข้อมูลผลการตรวจพิสูจน์หลักฐาน ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ปัจจุบันระบบฐานข้อมูลของ ศพฐ.10 ประกอบด้วยฐานข้อมูลเหตุการณ์ ฐานข้อมูลอาวุธปืน ฐานข้อมูลลายนิ้วมือ ฐานข้อมูล DNA และฐานข้อมูล Toolmark และจะมีฐานข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติมอีกในอนาคต
- ระบบฐานข้อมูล ถือเป็นปัจจัยสำคัญของระบบ FIDS เพราะในการแสดงแผนผังการเชื่อมโยงข้อมูลทางคดีนั้น ระบบ FIDS จะทำการวิเคราะห์และประมวลผลการเชื่อมโยงเหตุการณ์กับวัตถุพยาน จากระบบฐานข้อมูล
คดีตัวอย่าง
- วันที่ 6 พ.ค. 58 คนร้ายใช้อาวุธปืนกราดยิงนายสรรเพชร กาญจนเทพ และ นางนพรันต์ กาญจนเทพ เสียชีวิตและจุดไฟเผา ขณะขับรถเร่ขายของภายในหมู่บ้าน บ้านตันหยง ม.2 ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา
ผลตรวจพิสูจน์อาวุธปืน
- จากเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่ตรวจสถานที่เกิดเหตุได้ตรวจพบปลอกกระสุนปืนเล็กกล ขนาด .223 (5.56 มม.) จำนวน 4 ปลอก ซึ่งจากการตรวจพิสูจน์ทำให้ทราบว่าปลอกกระสุนปืนดังกล่าวใช้ยิงมาจากปืน M16 กระบอกเดียวกัน และเมื่อตรวจสอบกับฐานข้อมูลของ ศพฐ.10 พบว่าปืนกระบอกนี้ เคยก่อเหตุมาแล้ว จำนวน 3 คดี
- และตรวจพบปลอกกระสุนปืน ขนาด 7.62 มม. RUSSIAN จำนวน 4 ปลอก ซึ่งจากการตรวจพิสูจน์ทำให้ทราบว่าปลอกกระสุนปืนดังกล่าว ใช้ยิงมาจากปืน AK-47 กระบอกเดียวกัน และเมื่อตรวจสอบกับฐานข้อมูลของ ศพฐ.10 พบว่าปืนกระบอกนี้ เคยก่อเหตุมาแล้ว จำนวน 4 คดี
การใช้ระบบ FIDS เชื่อมโยงเหตุการณ์กับฐานข้อมูล
- แผนผังเชื่อมโยง FIDS ระดับ 1 แสดงผลการเชื่อมโยงข้อมูลทางคดี เริ่มต้นจากเหตุการณ์ต้นเรื่อง(สีเทา) แสดงผลการตรวจวัตถุพยานเป็นอาวุธปืน(สีแดง) จำนวน 2 กระบอก กระบอกที่ 1 เป็นอาวุธปืน M16 มีความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ จำนวน 3 เหตุการณ์ (สีน้ำเงิน) ในพื้นที่ สภ.บันนังสตา 2 เหตุการณ์ และพื้นที่ สภ.ปะแต 1 เหตุการณ์
- และอาวุธปืนกระบอกที่ 2 เป็นอาวุธปืน AK-47 มี ความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ จำนวน 4 เหตุการณ์(สีน้ำเงิน)
- แผนผังเชื่อมโยง FIDS ระดับ 2 แสดงผลการเชื่อมโยงข้อมูลทางคดี จากเหตุการณ์ (สีน้ำเงิน) จำนวน 7 เหตุการณ์ แสดงผลการตรวจวัตถุพยาน เป็นอาวุธปืน(สีชมพู) จำนวน 8 กระบอก ประกอบด้วยอาวุธปืน M16 จำนวน 4 กระบอก อาวุธปืน AK-47 จำนวน 3 กระบอก และอาวุธปืน HK-33 จำนวน 1 กระบอก มีความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ จำนวน 9 เหตุการณ์ (สีฟ้า) ในเขตพื้นที่ สภ.บันนังสตา
- และ จากเหตุการณ์ (สีน้ำเงิน) จำนวน 1 เหตุการณ์ มีผลการตรวจวัตถุพยานตรงกับ DNA ของนายพาดือลี กาจะลากี (สีม่วง) ซึ่งตรวจเก็บเยื่อบุกระพุ้งแก้มเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.56 (สีฟ้า) และวันที่ 7 ก.พ. 57 (สีฟ้า)
- แผนผังเชื่อมโยง FIDS ระดับ 3 แสดงผลการเชื่อมโยงข้อมูลทางคดี จากเหตุการณ์ (สีฟ้า) จำนวน 9 เหตุการณ์ แสดงผลการตรวจวัตถุพยาน เป็นอาวุธปืน(สีชมพูอ่อน) จำนวน 2 กระบอก ประกอบด้วยอาวุธปืน AK-47 จำนวน 1 กระบอก และอาวุธปืน .40S-W จำนวน 1 กระบอก
- และจากเหตุการณ์ (สีฟ้า) จำนวน 1 เหตุการณ์ มีผลการตรวจวัตถุพยานตรงกับ DNA จากวัตถุพยาน (สีเขียว) ในเหตุยิงด.ช.ลุกมานฯ เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 57 ในพื้นที่ สภ.บันนังสตา (สีฟ้าอ่อน)